กรมปศุสัตว์แนะนำเกษตรกรป้องกันโรคในไก่พื้นเมืองช่วงฤดูฝน โดยจัดการฟาร์มให้อยู่ในสภาพดี มีการจัดเก็บอาหารสัตว์ในสถานที่สะอาดและไม่อับชื้น มีการถ่ายพยาธิให้ไก่เป็นประจำ เตรียมวิตามินและน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ป้องกันโรคด้วยการทำวัคซีนตามโปรแกรม เพื่อให้ไก่มีสุขภาพดีมีความทนทานต่อโรค

 

          นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในฤดูฝน ผู้เลี้ยงจะต้องสังเกตลักษณะและอาการผิดปกติของไก่มากกว่าในฤดูอื่นๆ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปียกชื้น มีน้ำขัง และมีละอองฝน อาจทำให้ไก่ป่วยได้ง่าย ดังนั้น สิ่งสำคัญของการป้องกันโรคในไก่พื้นเมืองช่วงฤดูฝน คือ เกษตรกรต้องให้ความสำคัญดูแลเรื่องการจัดการฟาร์มให้อยู่ในสภาพดี มีโรงเรือน หรือเล้าที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และสามารถป้องกันฝนสาดและละอองฝนได้ จัดเก็บอาหารสัตว์ในสถานที่สะอาด แห้งและไม่อับชื้น มีการเตรียมวิตามินผสมน้ำให้ไก่กิน มีน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ กลับแกลบรองพื้น ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหารและน้ำทุกวัน ขอให้ถ่ายพยาธิไก่เป็นประจำ เน้นย้ำให้เกษตรกรทำวัคซีนป้องกันโรคตามโปรแกรม เพื่อให้ไก่มีสุขภาพดีมีความทนทานต่อโรค

          อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในระยะนี้ มีฝนตกคะนองกระจายทั่วทั้งประเทศ กรมปศุสัตว์มีความห่วงใยเกษตรกรและสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะไก่พื้นเมืองที่มีการเลี้ยงแบบปล่อยหลังบ้าน มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย โดยโรคสำคัญในไก่พื้นเมืองช่วงฤดูฝน ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกควรระมัดระวัง อาทิ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ โรคอหิวาต์ไก่ และโรคหวัดติดต่อหรือหวัดหน้าบวม โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบ โรคฝีดาษไก่ โรคมาเร็กซ์ โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ และโรคไข้หวัดนก โรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว ได้แก่ โรคบิด รวมถึงโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งโรคเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพไก่ เป็นผลให้ไก่อ่อนแอผลผลิตลดลง ไข่ลดลง โตช้า แคระแกรน หรือตายได้ วิธีป้องกันขอให้เตรียมน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ เพิ่มวิตามินละลายน้ำ เปลี่ยนสิ่งปูรองพื้นที่แฉะเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค เลือกซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี เป็นต้น

          อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพดี แข็งแรง มีความทนทานต่อโรคเป็นสิ่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เกษตรกรสามารถขอคำแนะนำ สอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้าน ในวันและเวลาราชการและขอความร่วมมือหากพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติสามารถแจ้งเบาะแสให้กับอาสา   ปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด ในพื้นที่ของท่านหรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 0-9630-11946 ด้วยความปรารถนาดีจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

-------------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์                                  

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์