บทคัดย่อ
 
        การศึกษาทางระบาดวิทยาแบบภาคตัดขวาง เพื่อหาความชุกทางซีรัมและปัจจัยเสี่ยงของโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เลี้ยงกีบคู่ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ แกะ และสุกร ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย คือ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม 2553 ทำการสำรวจแบบสอบถามจากการสัมภาษณ์เกษตรกรจำนวน 576 ราย เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย และเก็บตัวอย่างซีรัมโดยวิธีการสุ่มแบบ two stage random sampling เพื่อตรวจหาความชุกจำนวน 20,805 ตัวอย่าง จากสัตว์ 465 ฝูง (หมู่บ้าน) ตรวจหาแอนติบอดีต่อ non-structural proteins (NSPs) ในส่วนพันธุกรรม 3ABC ด้วยวิธี ELISA พบความชุกระดับตัวสัตว์เท่ากับ 1.45 เปอร์เซ็นต์ (95%CI=1.34-1.56) และความชุกในระดับฝูงสัตว์เท่ากับ 22.58 เปอร์เซ็นต์ (n=105) โดยจังหวัดสระแก้วพบมีความชุกของโรคสูงสุดทั้งระดับตัวสัตว์และฝูงสัตว์ คือ 6.49 เปอร์เซ็นต์ (95%CI=5.89-7.08) และ 36.59 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ รองลงมา ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี คือ 4.27 เปอร์เซ็นต์ (95%CI=3.81-4.72) และ 30.43 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับชนิดสัตว์ที่พบความชุกของโรคในระดับตัวสัตว์สูงสุด ได้แก่ กระบือ รองลงมา ได้แก่ โคเนื้อและโคนม 10.70 เปอร์เซ็นต์ (95%CI=9.70-11.69), 9.05 เปอร์เซ็นต์ (95%CI=8.54-9.55) และ 7.88 เปอร์เซ็นต์ (95%CI=6.58-8.98) ตามลำดับ ส่วนความชุกของโรคในระดับฝูงสัตว์ พบสูงสุดในโคนม เท่ากับ 38.46 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา ได้แก่ โคเนื้อ 33.33 เปอร์เซ็นต์ และกระบือ 29.73 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของโรคปากและเท้าเปื่อยโดยสถิติการถดถอยโลจิสติกแบบหลายตัวแปร พบว่าฟาร์มที่ไม่มีรั้วล้อมรอบโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงสัตว์ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์ต่อการติดเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เลี้ยงกีบคู่ภาคตะวันออกของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) (OR=2.34; 95%CI=1.51-3.63) แสดงให้เห็นว่าการที่ฟาร์มที่ไม่มีรั้วล้อมรอบโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันสัตว์อื่นๆ รวมถึงบุคคลและยานพาหนะต่างๆ มีโอกาสที่เชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยจะเข้าไปสัมผัสกับสัตว์ภายในฟาร์มได้โดยตรง ดังนั้นควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีระบบการป้องกันโรคที่ดี โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
 
Download เอกสาร