ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยของเกษตรกร ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย
ศิษฏ์ เปรมัษเฐียร* โรจน์ชนะ ปรากฎชื่อ*
บทคัดย่อ
การศึกษาความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยของเกษตรกรที่มีอยู่ในปัจจุบัน และปัจจัยที่จะส่งผลให้เกษตรกรมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดี เพื่อนำไปปรับแผนกลยุทธ์ในการสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย ได้ทำการศึกษาในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ แกะ และสุกร ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย จำนวน 572 ราย ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ระยองและสระแก้ว โดยแบบสอบถามระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2553 ผลการศึกษาระดับความรู้ พบว่าเกษตรกรมีความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมโรคอยู่ในระดับดี ปานกลาง และไม่ดี คิดเป็นร้อยละ 69.1 26.6 แล 4.4 ตามลำดับ เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์แบบรายใหญ่อย่างสุกร จะมีความรู้ในการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยดีกว่าเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์แบบรายย่อยอย่างโคเนื้อ การแพร่เชื้อไวรัสจากสัตว์ติดเชื้อในระยะก่อนและหลังแสดงอาการเป็นสิ่งที่เกษตรกรทุกประเภทยังรู้อย่างไม่ถูกต้อง (ร้อยละ 70.8) เกษตรกรร้อยละ 92.8 มีความรู้อย่างถูกต้องด้านอาการของโรคปากและเท้าเปื่อย ทัศนคติของเกษตรกรต่อการป้องกันควบคุมโรค พบว่ามีทัศนคติเป็นกลาง และเป็นบวก คิดเป็นร้อยละ 62.4 และ 37.6 ตามลำดับ โดยไม่มีทัศนคติทางลบ ประเด็นการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามจังหวัดที่จะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มีคะแนนทัศนคติต่ำที่สุด ส่วนทัศนคติที่เป็นบวกสูงสุดคือเห็นว่าการแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เมื่อพบสัตว์ป่วยเป็นโรคถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรค พฤติกรรมของเกษตรกรมีการปฏิบัติการป้องกันโรคระดับปานกลาง ระดับดี และระดับไม่ดี คิดเป็นร้อยละ 66.4 29.5 4.1 ตามลำดับ ผู้เลี้ยงสุกรที่มีพฤติกรรมในระดับดีเป็นสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 78.0) ส่วนผู้เลี้ยงกระบือมีพฤติกรรมอยู่ในระดับดีเป็นสัดส่วนต่ำสุด (ร้อยละ 3.4) เกษตรกรร้อยละ 86.2 ให้ข้อมูลว่าฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยให้สัตว์ที่เลี้ยง แต่ฉีดกระตุ้นวัคซีนซ้ำภายหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกในชีวิต 1 เดือนมีการปฏิบัติเพียงร้อยละ 31.5 การทำลายเชื้อโรคก่อนเข้า-ออกสถานที่เลี้ยงสัตว์หรือฟาร์มพบว่า ผู้เลี้ยงสุกรและโคนม มีการปฏิบัติ ร้อยละ 88.8 และ 55.8 ตามลำดับ ขณะที่ผู้เลี้ยงโคเนื้อและกระบือปฏิบัติเพียงร้อยละ 7.1 และ 3.4 และผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนทั้งสามหัวข้อทางสถิติโดยวิธีการทดสอบความแปรปรวน (P<0.05) พบว่า ผู้เลี้ยงสุกร มีระดับคะแนนความรู้แตกต่างกับผู้เลี้ยงโคเนื้อ กระบือ และโคนม ด้านทัศนคติพบว่ามีความแตกต่างระหว่างผู้เลี้ยงกระบือ และมีระดับพฤติกรรมที่แตกต่างกับผู้เลี้ยงสัตว์โคเนื้อ กระบือ โคนม และแพะ และผลการทดสอบความสัมพันธ์พบว่า ความรู้และพฤติกรรม มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันในระดับความสัมพันธ์ที่ไม่สูง (ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ 0.188, P < 0.01) จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคอยู่ในระดับดี และมีทัศนคติและพฤติกรรมการปฏิบัติเพื่อป้องกันและควบคุมโรคอยู่ในระดับปานกลาง มีข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาดังนี้ 1) กรมปศุสัตว์ควรวางแผนบนพื้นฐานที่ว่าความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยของเกษตรกรในเขตพื้นที่นี้อยู่ในระดับดีและปานกลาง 2) ควรส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการเพื่อให้เข้าใจในประเด็นการแพร่เชื้อไวรัสจากสัตว์ติดเชื้อในระยะก่อนและหลังแสดงอาการ 3) ควรรณรงค์ฉีดวัคซีนซ้ำภายหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกในชีวิต 1 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบือ โคเนื้อ และแพะ และ 4) ควรสร้างระบบการรายงานการไม่พบโรคปากและเท้าเปื่อย
(Negative report) ในเครือข่ายการเฝ้าระวังทางอาการเพื่อเป็นฐานข้อมูลการพบหรือไม่พบโรค