อยู่ดีกินดีได้ด้วยเกษตรผสมผสาน และปศุสัตว์
      ในยุคปัจจุบันที่ความหลากหลายทางอาชีพมีมากมาย แต่กลับมีคนรุ่นใหม่ๆ ไม่น้อยที่หันไปเอาดีในอาชีพเกษตรกรรม ทิ้งความฟุ้งเฟ้อในสังคมเมืองได้อย่างหมดสิ้น
ดังเช่นครอบครัวของคุณมิตรชัย ยุทธรักษ์ เกษตรกรที่เอาดีกับการทำสวนผสมผสานและเลี้ยงไก่ไข่จนประสบความสำเร็จ เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าอีกหนึ่งคนที่พึ่งพาตนเองได้
      สวนมิตรชัยฟาร์มตั้งอยู่ที่ ม.4 บ้านห้วยมะเขือ ต.มาแซง อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ คุณมิตรชัย คุณรัชนก ยุทธรักษ์ สองสามีภรรยาเจ้าของฟาร์มแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า
ครอบครัวของตนนั้นเริ่มทำสวนผสมผสานเมื่อปี 2544 โดยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในเรื่องของการมีชีวิตที่พอเพียงมาใช้ ด้วยการปลูกพืชอาหารที่หลากหลายชนิด  และเลี้ยงสัตว์แบบเกื้อกูลกัน เพื่อไว้ใช้บริโภคในครัวเรือนและขายสร้างรายได้พอให้มีทั้งอาหารและรายได้ไปพร้อมกัน
      คุณรัชนก เล่าต่อว่า แต่ก่อนตนเองไม่ใช่คนขยันในการทำมาหากินสักเท่าไรนัก เนื่องจากจากเป็นคนชอบกินเหล้าเที่ยวเตร่ แต่ก็เป็นคนที่โชคดีอยู่คือ การมีสามีที่ดี ไม่ว่าจะทำอะไรยังไง  สามีไม่เคยปริปากในสิ่งที่ตนเป็น ซึ่งเหตุที่ทำให้ตนหันกลับมาใช้ชีวิตแบบมีสติได้จนทุกวันนี้เกิดขึ้นจาก วันหนึ่งตนก็ออกจากบ้านไปเที่ยวตามปกติ พอกลับมาบ้านเห็นฝุ่นติดขนตาสามี

     อันเนื่องมาจากสามีทำงานหนักปลูกตะไคร้ส่งตลาด และหน้าตาของสามีตอนนั้นก็ดูเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาก ณ วินาทีนั้นทำให้เรารู้สึกผิดคิดตำหนิตัวเองว่า ขณะที่สามีเขาทำงานเหนื่อย  แต่เรากับรักสบายเที่ยวไปวันวัน พอคิดได้อย่างนั้นก็เลยบอกกับตนเองว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะไม่ทำตัวแบบนี้อีกแล้ว หลังจากนั้นก็ช่วยสามีทำมาหากินเรื่อยมา ก็พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัวแต่ก็ไม่มากนัก
      จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสไปเจอญาติคนหนึ่งที่เขาเลี้ยงไก่บนบ่อปลา พอเห็นแล้วก็สนใจอยากเลี้ยงเหมือนเขาบ้างเพราะเห็นว่าสามารถสร้างรายได้ที่ดี กลับมาถึงบ้านก็นั่งปรึกษากับสามี พยายามช่วยกันคิดว่า ทำยังไงนะเราจึงจะสามารถเลี้ยงไก่ได้ เพราะตอนนั้นทุนเราไม่มีสามีก็เลยไปคุยกับ ธ.ก.ส. เพื่อขอสินเชื่อ โดยเอาที่ดิน 30 ไร่ ไปเป็นโฉนดค้ำประกัน ในขณะนั้นได้กู้เงิน ธ.ก.สให้มาเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท เพื่อมาสร้างโรงเรือน ซื้ออุปกรณ์อะไรต่างๆ โดยเริ่มจากการเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลาเหมือนกับที่ญาติทำ เพราะจะเกิดรายได้ 2 ทางคือขายได้ทั้งไข่ไก่และขายได้ทั้งปลา
      ตอนนั้นใช้ทุนในการสร้างโรงเรือน ซื้อวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยง ตลอดจนไก่สาวพร้อมไข่ เป็นจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดราวๆ 5 แสนบาท (ของทุกอย่างเป็นของมือ 2 ประหยัดต้นทุน) เงินที่เหลือเอาไว้เป็นทุนหมุนเวียนเพื่อซื้ออาหารไก่
โดยไก่ 1,000 ตัว จะกินอาหารวันละ 8 กระสอบ เนื่องจากตนนั้นซื้อไก่สาวพร้อมไข่มาเลี้ยง ในเดือนแรกที่เอาไก่มาลงก็ให้ไข่เลย พี่ก็เลยไปเช่าแผงในตลาดสำหรับขายไข่โดยเฉพาะ
     โดยปิดป้ายว่าไข่จากฟาร์มเลี้ยงเองสดใหม่ทุกวัน และให้ลูกค้าสามารถมาตรวจเยี่ยมฟาร์มเราได้ พอมีรายได้จากการขายไข่เราก็เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ไปใช้หนี้คืน ธ.ก.ส. จากคนที่ไม่มีความละเอียดและไม่มีความรู้เรื่องการทำบัญชี  ก็ทำให้ตนต้องหันมาทำบัญชีอย่างจริงจังในคราวนี้ ซึ่งการทำบัญชีครัวเรือนทำให้เราจะเห็นว่ามีรายรับรายได้เท่าไหร่ ซึ่งในปีแรกของการเลี้ยงไก่ไข่มันยังไม่คุ้มทุน แต่มันจะไปคุ้มทุนในการเลี้ยงปีที่ 2  ซึ่งเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือนถือเป็นหัวใจที่ทำให้พี่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไก่ไข่ก็ว่าได้
      สำหรับเทคนิคในการเลี้ยงไก่ไข่นั้น คุณมิตรชัย เล่าให้ฟังว่า เทคนิคการเลี้ยงไก่นั้นไม่มีอะไรมาก ซึ่งไก่ไข่ถ้าเราให้เขากินอิ่มและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความสุข มีการเปิดเพลงให้ไก่ฟัง ไก่ก็จะให้ไข่เราสม่ำเสมอ  โดยไก่ 1,000 ตัวจะให้ไข่อยู่ที่ 800-900 ฟองต่อวัน และมีอายุการให้ไข่ประมาณ 18 เดือน จากนั้นเราก็โล๊ะขายเป็นแม่ไก่ปลดระวางในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งจะมีบริษัทมารับซื้อถึงที่ หลังจากที่เราประสบความสำเร็จ
      ในการเลี้ยงไก่บนบ่อปลาเราก็ขยายการเลี้ยงเพิ่มเรื่อยๆ ตามความต้องการของตลาด จนกระทั่งปัจจุบันเรามีไก่ไข่ทั้งหมดจำนวน 3,000 ตัว แบ่งเป็น 3 รุ่น หมายความว่า ไก่สาวที่เรานำมาลงจะไม่ลงพร้อมกันทั้ง 3,000 ตัว แต่จะลงครั้งละ 1,000 ตัว  โดยใช้ระยะเวลาลงห่างกันประมาณชุดละ 5 เดือน ที่เราต้องจัดระบบการจัดการแบบนี้เพื่อที่จะให้เรามีไข่ขายทุกวันโดยไม่มีวันหยุด  

ที่มาบทความ